Online Workshop ตามวิถี UX

Apirak
UX ACADEMY TH
Published in
3 min readMay 2, 2020

--

ใน blog ที่ผ่านมาผมเล่ามุมมองของการสอน Online Workshop ทั้งในส่วนที่ online สามารถทำได้ดีมากๆ และส่วนที่เรายังสามารถทำให้ดีขึ้นได้อีก

ในครั้งนี้ผมอยากมาเล่าสิ่งที่ผมลองผิดลองถูกในการสอน Online ครับ เนื่องจากเป็นช่วงเริ่มต้น เราจึงใช้ทีมงานน้อย และพยายามจำกัดอุปกรณ์ ให้เป็นของที่เรามีอยู่แล้วก่อน เพื่อให้สามารถทำรอบการปรับปรุงได้เร็วๆ (ตามแนว Lean) เราตั้งสมติฐานหลายข้อ และพยายามเรียนรู้ว่าผู้เรียนคิดแบบนั้นจริงมั๊ย แต่ละรอบที่เราลอง ก็กลายเป็นว่าแค่อุปกรณ์บ้านๆ ก็สามารถสร้าง Experience ที่ดีได้เป็นที่น่าพอใจเลยครับ

ตอนนี้เลยอยากบันทึกเอาไว้ก่อน รวมทั้งอยากเอามาแลกเปลี่ยนกับทุกๆ คน เพื่อหาทางปรับปรุงต่อไป ผมขอเล่าสิ่งที่พบเป็นข้อๆ ไปนะครับ

1. ผมพบว่าการจัดโต๊ะของผู้สอนมีผลอย่างมาก

ผมใช้ Macbook Pro 13" ต่อเข้ากับจอขนาดใหญ่ (แนะนำว่าควรต่อด้วยสาย Usb-c to Display port จะได้ภาพที่นิ่งกว่า HDMI มาก) ผมเปิดหน้าจอแบบ Full-screen บนเครื่อง Macbook เพื่อให้สามารถเป็นหน้าผู้เรียนได้ชัดที่สุด ส่วนในหน้าจอใหญ่ผมจะใช้ดูหน้าต่าง Paticipant ของ zoom เพื่อการจัดห้องหรือปิดเสียง กับใช้ดูหน้าต่าง Chat ซึ่งผู้เรียนมักจะถามคำถามเข้ามา ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะปรับหน้าต่างไปตาม Workshop ต่างๆ เพื่อดูว่าแต่ละคนทำอะไรกันไปถึงไหนแล้ว

🤫 ขอบอกเลยครับ ว่าตอนที่เห็น Post-it ของทุกกลุ่มเพิ่มขึ้นพร้อมๆ กัน มันให้ความรู้สึกที่ดีมาก แถมถ้าเราเห็นอะไรที่น่าสนใจเราสามารถกระโดดเข้าไปคุยได้ทันที หรือจะเก็บเอาไว้สรุปตอนจบ Workshop ก็ยังได้ แทนที่จะต้องวิ่งไปดูทีละกลุ่ม แล้วตอนสรุปก็ไม่รู้จะดึงขึ้นมาให้ทุกคนดูยังไง

ส่วน iPad ผมใช้เปิด Presentation ครับ โดยจะต่อเข้า Zoom อีก Account หนึ่งแล้ว share screen ทำให้ผมสามารถใช้ปากกาเขียนบน iPad ได้ในจังหวะที่สอน ช่วยให้การอธิบายง่ายขึ้นมากๆ

พอเรา share screen บน ipad หน้าจอ macbook จะแสดงภาพของ Presentation ขึ้นมา ผมจะเลือกให้แสดงผลแบบ Split screen จากนั้นจัดให้ตัว Presentation มีขนาดเล็ก ประมาณ 1 ใน 4 ของหน้าจอ เพื่อให้ผมยังเห็นหน้าผู้เรียนเป็นหลักอยู่ แต่จะไม่ปิดหน้าจอ presentation นะครับ เพราะบางทีมันชอบไม่ update ถ้าเราเปิดไว้เราจะได้รู้ว่าผู้เรียนเห็นหน้าจอเป็นอย่างไร เห็น animation ที่เราทำหรือเปล่า

[Tip] ถ้าตัว presenation ไม่ยอม update ให้เอาปากกาวาดบนจอนิดนึง ตัว zoom จะรับรู้ความเปลี่ยนแปลงแล้ว update slide ให้เราครับ

ผมจะพยายามเหลือพื้นที่บนโต๊ะไว้เยอะๆ สำหรับติด Post-it เพื่อเตือนความจำ เช่น “ลืมสอนส่วนนี้ไปนะ” “ให้ยกตัวอย่างให้คนนี้ฟัง” “คนนั้นไม่เข้าใจเรื่องนี้ ให้วนกลับมาเล่าอีกรอบ” เป็นต้น นี่เป็นสิ่งที่ตอนทำ offline workshop ทำไม่ได้ซะที เพราะเวลายืนหน้าห้องมันย้อนกลับมาดู Post-it พวกนี้ลำบาก ทำให้พลาดจัดหวะดีๆ ในการเสริมไปหลายครั้งเลย

2. ยืนสอนส่งความรู้สึกได้ดีกว่านั่ง

อันนี้คงแล้วแต่ผู้สอนแต่ละคนด้วย สำหรับผมการยืนทำให้ผู้เรียนเห็นอวัจนะภาษาของเราได้ชัดเจนมากกว่าตอนที่นั่ง (จริงๆ น่าจะมีผลต่อจิตใจคนสอนด้วย เพราะผมเป็นพวกคิดออกตอนขยับตัว อยู่นิ่งๆ แล้วคิดไม่ออก) ถ้าให้ดีแนะนำให้หาเบาะนิ่มๆ มารองพื้นไว้เพื่อลดการเจ็บผ่าเท้า ล่าสุดผมดันเอาหมอนใหญ่ๆมารองทำมันโยกเยอะเกินไป คนเรียนคงจะมึนหัว แนะนำให้เป็นเบาะโยคะจะดีกว่ามากครับ

เรื่องเบาะก็เป็นอีกอย่างที่ตอนสอน Offline ไม่มี ต้องไปหาซื้อรองเท้านิ่มๆ มาใส่แทน ถ้าวันไหนใส่รองเท้าแข็งตอนเย็นจะเมื่อยขามาก

ตำแหน่งการวางเครื่องต้องพยายามเล็งให้กล้องอยู่ในระดับสายตานะครับ เพื่อให้เราไม่เจ็บคอเพราะต้องก้มหน้าทั้งวัน และผู้เรียนได้เห็นเราตรงๆ แทนที่จะดูคางเราเป็นหลัก 😅 ผมลองใช้หนังสือเอามาตั้งเป็นฐานไว้เพื่อยกเครื่องขึ้นมาส่วนโต๊ะผมซื้อ โต๊ะญี่ปุ่นมาสองตัว ใช้รองขาโต๊ะไว้ให้มันสูงขึ้นมา (ถ้าการสอนเริ่มลงตัวเมื่อไหร จะของบไปซื้อโต๊ะที่ปรับความสูงได้มาแทน)

ระยะห่างจาก คอมพิวเตอร์มายังผู้สอนก็สำคัญครับ ถ้าใกล้เกินไปผู้เรียนจะเห็นแต่หน้า เราจะทำมือทำไม้ เพื่อสื่อสารได้ยาก ในขณะเดียวกันถ้าไกลเกินไปก็จะมองไม่เห็นแววตาของผู้สอนก็จะสื่อสารกันลำบากเช่นกัน 👀

ผมเคยเรียนกับที่ Skooldio เค้าทำส่วนนี้ทำออกมาได้ดี โดยใช้โปรแกรม OBS ตัดภาพผู้สอนให้เป็นแนวตั้ง ทำให้เห็นผู้สอนตั้งแต่เอวถึงหัวเลย การสื่อสารด้วยท่าทางก็จะเห็นได้ง่ายขึ้นมาก แต่ถ้าไม่ได้ใช้โปรแกรมเราก็จะมีข้อจำกัดหน่อย เวลาทำท่าทำทาง ก็ต้องยกมือสูงนิดนึง ให้คนมองเห็น (ถ้าใครอยากรู้ว่าจัดเต็มต้องทำยังไง แนะนำให้ลองไปสอนกับ Skooldio นะครับ)

💡 ไฟ เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญมากๆ ครับ ผมลองใช้วิธีหันหน้าเข้าหาหน้าต่างเพื่อให้เห็นผู้เรียนได้เห็นหน้าชัดมากที่สุด แต่พอตอนเย็นๆ หรือตอนฝนตก ไฟในห้องจะเริ่มแรงไม่พอ ผู้สอนควรมีไฟเสริม เพื่อให้แน่ใจว่าผู้เรียนจะเห็นเราได้ชัดตลอดการเรียน

3. ซอร์ฟแวร์ที่เลือกใช้ในการทำ Workshop

เรื่องนี้เป็นส่วนที่ตัดสินใจเริ่มได้ยากมากๆ เพราะมี solution อยู่หลายแบบ เริ่มตั้งแต่โปรแกรม video conference เลย มันมีหลายเจ้ามากๆ แม้ว่าสุดท้ายก็มาลงที่ Zoom แต่ตอนแรกอะไรทำง่ายเราก็ทดลองหมดครับ (เพราะเราไปท่า Lean) สุดท้ายก็พบว่าคุณภาพของภาพตอนที่ดูหน้าคน และตอนที่ Share screen สำคัญต่อคนเรียนมากๆ

ช่วงแรก ผมจะชอบ Discord มากๆ เพราะมันสามารถคุยถกเถียงกันได้ดีสุดๆ เหมือนโทรศัพท์คุยกัน ต่างจากโปรแกรมอื่นมันจะกรองเสียงให้เหลือคนพูดแค่คนเดียว ทำให้มันเหมาะกับการประชุมมากกว่าการสอน แต่เจ้า Discord ดันมีจุดอ่อนที่การ share screen ซึ่งทำให้แย่แบบรับไม่ได้ ตัวเลือกนี้เลยตกไป 😭

Google Meet ก็เป็นอีกตัวที่เอามาทดลองเพราะตอน share video มันทำได้ดีมาก และดูเสถียรดี แต่กลายเป็นว่าตอน share screen มันชอบแสดงภาพไม่คม แล้วตัว presentation ของเราดันสำคัญซะด้วย Google Meet เลยถูกวางไว้ก่อน

ตัว Zoom มี Killer Feature อันนึงซึ่งสำคัญมากคือ มันแยกห้องได้/รวมห้องได้ ทำให้การจัดกลุ่มสำหรับทำ Workshop ง่ายขึ้นมามาก ตัวเดียวอยู่ ไม่งั้นต้องใช้อีกหลายโปรแกรมมาช่วยกัน (ผมจ่ายแบบ 14$ ต่อเดือนไป)

โปรแกรม presentation ผมชั่งใจอยู่ระหว่า Keynote และ Google Slide ครับ ข้อดีของ Google Slide คือเราสามารถ Share ให้ผู้เรียนได้ทันที อะไรที่เราแก้ผู้เรียนก็จะได้ตัวล่าสุดไปเลย มันจะทำให้เราสร้าง Slide ใหม่ขึ้นมาพร้อมๆ กันในห้องได้ด้วย ซึ่งส่งผลให้การจดจำเนื้อหาได้มากขึ้นด้วย

แต่สุดท้ายมาลงที่ Keynote เพราะมันทำ Slide ได้สวยกว่ามากครับ 😅 แถมตอนเปิดบน ipad เราสามารถใช้ปากกาเขียนลงไปได้ด้วย ทำให้การสร้างความเข้าใจไปด้วยกันทำได้ดี แค่ต้องคอย capture หน้าจอเอาไว้ ไม่งั้นพอปิด presenation มันก็ลบไปหมดเลย

ตอนนี้ยังไม่ได้ลองต่อ ipad เข้ากับจอนอกอีกจอ เพราะถ้าต่อได้ เราน่าจะสามารถแสดงหน้าจอถัดไป และตัว presentation note ได้ด้วย ช่วยให้การสอนราบรื่นขึ้นอีกเยอะเลย

การทำ Workshop ผมเลือก Google Slide กับ Google Draw แทนที่จะเป็น Miro หรือ Mural เพราะผมต้องการเห็นทุกคนทำงานพร้อมๆ กัน ดังนั้นเลยต้องเลือกเครื่องมือที่กินทรัพยากรเครื่องน้อยๆ ตัว Miro กับ Mural แค่ผมเปิดสองสามหน้าต่างพร้อมกันพัดลมเครื่องก็หมุ่นติ้วแล้ว ถ้าดึงคนเข้ามาซัก 20 คน น่าจะหนักเครื่องมาก ไม่เหมือนตอนใช้ Google Slide กับ Google Draw ผมเปิดได้แบบนิ่งๆ เลย จะเปิดหลายหน้าต่าง หรือดึงทุกคนเข้ามาใน Slide เดียวกันก็สบายๆ

การจัด Google Slide ให้พร้อมสำหรับการทำ Workshop สามารถทำได้ง่ายๆ เลยครับ แต่ถ้าอยากจะเก็บรายละเอียดก็ต้องบอกว่ามีเทคนิคเพียบเลย เพื่อให้ผู้เรียนใช้มันได้อย่างราบรื่น ไว้รวบรวมมาเล่าให้ Blog หน้านะครับ

4. อย่าปลอยหน้าจอของผู้เรียนไปตามยถากรรม

เนื่องจากการเข้าใจ Slide มันยากกว่าเข้าใจหน้าคน ดังนั้นผมจึงขอให้ผู้เรียน ตั้งหน้าจอเป็น Split-Screen แล้วดึงให้ตัว Slide ใหญ่เป็น 3 ใน 4 ของหน้าจอ

การจัดหน้าจอแบบนี้ผู้เรียนจะได้เห็นรายละเอียดของ slide อย่างชัดเจน อ่านตัวหนังสือออก เห็นว่าผู้สอนเขียนอะไรลงไป และที่สำคัญคือได้เห็นผู้สอนและเพื่อนๆ ด้วย ใครที่เป็นคนพูดตัว Zoom ก็จะดึงขึ้นมาไว้เป็นหลัก ดังนั้นตอนเรียนก็จะเห็นผู้สอน ส่วนตอนที่มีการถามตอบก็จะเห็นเพื่อนขึ้นมา

การเห็นว่ามีคนเรียนอยู่ด้วยสำคัญมากๆ เพราะมันคอยเตือนว่าเราไม่ได้เรียนคนเดียว เราไม่เหงา เรายังมีเพื่อนอยู่ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนโหยหาโดยเฉพาะในช่วงที่เราโดนกักตัว การมีเพื่อนคุย การได้ทำอะไรร่วมกันกับเพื่อนๆ เป็นเรื่องที่ดี ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ได้สอนและได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันด้วย

อีกหน้าจอหนึ่งคือหน้าจอตอนทำ Workshop หน้านี้ผมอยากให้ผู้เรียนเปิด workshop ให้เต็มหน้าเลย ไม่ต้องสนใจหน้าเพื่อน ฟังแค่เสียงกันก็พอแล้ว เปิด zoom ทิ้งไว้สำหรับการคุยกัน เวลาที่ถูกดึงกับมาที่ห้องกลาง ถ้าอยากทำต่อก็ยังทำให้จบได้

คนสอนก็จะเว้นเวลาให้คุยกัน เอางานมาวิเคราะห์ รอจังหวะที่คนติดลมจะทำให้จบ จะได้สบายใจไปต่อได้ ส่วนคนที่รู้สึกว่าจบก็ไม่ต้องรอมีเรื่องให้เรียนรู้ไปพลางๆ

5. เชื่อมโยงชีวิตของผู้เรียนเข้ากับบทเรียนของเรา

นี่เป็นสิ่งที่เราทำได้ยากตอนที่เป็น Offline workshop เพราะทุกคนต้องมาอยู่ในสถานที่เดียวกัน แทนที่จะอยู่ในบ้านตัวเองที่คุ้นเคย เราใช้โอกาสที่ทุกคนอยู่บ้าน ให้ทุกคนไปหาของในบ้านของตัวเองมาคนละหนึ่งชิ้น โดยมีกติกาว่าต้องเป็นของที่เราภูมิใจที่ซื้อมา

ในกรณีของ workshop นี้ผมให้เค้าช่วยเชื่อมโยงของที่เค้าภูมิใจเข้ากับบทเรียน โดยให้อธิบายว่าของชิ้นนี้ตอบโจทย์ User, Business และ Development/Operation Team อย่างไร สิ่งนี้ทำให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงตัวเองเข้ากับบทเรียน และยังได้เดินเพื่อเปลี่ยนอิริยาบทด้วย

สำหรับ Workshop อื่นๆ ผมอยากให้ลองคิดดูว่ามันมีอะไรที่เราสามารถเชื่อมโยงผู้เรียน เข้ากับบทเรียนได้อีก อะไรที่ทำให้เค้าได้เดิน อะไรทำให้ได้คุย อะไรทำให้ได้ตกผลึกกับบทเรียนได้อีก อยากให้มาลองออกแบบกันดูครับ

สุดท้ายความเข้าใจที่ผู้เรียนได้ไป น่าจะเป็นสิ่งที่ผู้สอนสนใจมากที่สุด การสอนแบบ Online มันเป็นโลกใหม่สำหรับหลายๆ คน มันน่าจะมีเทคนิคดีๆ อีกมากเลยที่เรานำมาใช้ได้ (ไม่จำเป็นต้องทำเหมือนผมนะครับ) อยากชวนทุกคนมาร่วมกันลองแลกเปลี่ยนเทคนิคการสอน Online แบบต่างๆ ดูครับ เพื่อผู้เรียนของเรา

--

--

I am a big believer that great UX comes from all team members, not one. #UX Evangelist at ODDS #Co-founder of UX Academy #Certified Sprint Master.