อย่าแก้ปัญหาการสื่อสาร ด้วยการสื่อสารน้อยลง

Apirak
UX ACADEMY TH
Published in
3 min readApr 17, 2019

--

การสื่อสารมักกลายเป็นแพะตัวแรก ๆ เมื่อเกิดความความเข้าใจผิดในองค์กร ทั้ง ๆ ที่เราก็คุยภาษาเดียวกัน ในห้องประชุมก็ดูเหมือนจะเข้าใจกันหมด แล้วมันจะเป็นปัญหาที่การสื่อสารได้อย่างไร

“ที่ทีมทำออกมาไม่ตรงเป็นเพราะ Communication Problem ต่อจากนี้เวลาที่เราตกลงในห้องประชุมแล้ว เราจะส่ง e-mail สรุปให้ทุกครั้ง” — PM ท่านหนึ่งกล่าวไว้

บ่อยครั้งที่เราได้ยินการแก้ปัญหาการสื่อสารด้วยวิธีการนี้ (ลองนึกดูว่าจริง ๆ เค้าห่วงอะไร) ที่ทีมทำออกมาไม่ตรง น่าจะเป็นพราะทีมเข้าใจผิดตั้งแต่ในที่ประชุม เราควรส่งเสริมให้รีบ ๆ มาคุยกันเพิ่มเติมดีกว่า ผมลองถามจากเพื่อน ๆ แล้วพบว่า e-mail สรุปการประชุมถ้ายังไม่มีปัญหาก็ไม่มีใครอ่าน การที่เราบอกว่าจะส่ง e-mail สรุปเป็นการบอกเป็นนัย ๆ ว่ามีสรุปอยู่ใน e-mail แล้วนะ อ่านตรงนั้นก่อน ข้อตกลงอยู่ในนั้น กลายเป็นว่าการคุยกันถือเป็นอันดับสองรองจากอ่าน e-mail

สิ่งที่เราควรทำไม่ใช่การคุยกันให้น้อยลง แต่ควรคุยให้เร็วที่สุดทุกครั้งที่มีความไม่เข้าใจเกิดขึ้น และควรหาทางปรับปรุงการคุยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้เข้าใจชัดขึ้น ทำให้ไปถึงข้อสรุปได้เร็วขึ้นต่างหาก

เรื่องชวนคนมาคุยกันนี่ ทีม UX เก่งครับ เรามีเครื่องมือหลายตัวที่เข้าช่วยหลอกล่อให้คนมาคุยกัน กระบวนการส่วนใหญ่จะออกมาคล้ายกันครับ คือจะมีส่วนขยายและส่วนสรุป ผมลองยกตัวอย่างมา 5ตัว อยากให้เพื่อน ๆ ลองสังเกตุสิ่งที่เหมือนกัน ในลักษณะการทำงานของเครื่องมือแต่ละตัวดูครับ

1. Empathy Map

เครื่องมือสุด classic ที่ใช้ชวนคุยตอนเรามองผู้ใช้เป็นคนละคนกัน หรือตอนที่เราอยากจะเข้าใจผู้ใช้ของเรามากขึ้นผ่านมุมมองของคนในทีมแต่ละคน

ภาพทางซ้ายมือเป็นการทำ Empathy Map แบบดั้งเดิม คือเราจะติดสิ่งที่ผู้ใช้เห็นหรือได้ยิน (ปัจจัยภายนอก) สิ่งที่เค้าคิด (ปัจจัยภายใน) สิ่งที่เค้าพูดหรือทำ แล้วลองคิดสิ่งที่เป็น Painpoint และสิ่งที่เป็นความรู้สึกดี ๆ การทำแบบนี้บางทีก็แอบยากเพราะมีหลายช่อง เลยมีแบบใหม่เป็นภาพทางขวาซึ่งมีแค่ 4 ช่อง บางทีมก็แบ่ง Think/Feels/Says/Does บางทีมก็แบ่งเป็น See/Do/Feel/Commit ผมมองว่าใช้แบบไหนก็ได้ เมื่อไหรที่ทีมเริ่มพูดก็จะเริ่มเห็นมุมมองที่ไม่เหมือนกัน ช่วยให้เกิดการคุยกันมากขึ้น

ขั้นตอนสุดท้ายของการทำคือให้เราจับกลุ่มของ Post-it เราจะเริ่มเห็นประเด็นใหญ่ ๆ ออกมาตรงนี้ถ้าคนนำชี้ชวนให้ทีมงานแลกเปลี่ยนข้อสรุปของแต่ละคนจะดีมาก จะช่วยให้เราเห็นภาพผู้ใช้ของเพื่อนด้วย แทนที่จะเห็นของเราคนเดียว

ดูเรื่อง Empathy Map เพิ่มเติมที่ NNGroup

2. Persona

เครื่องมือตัวนี้ Classic กว่า Empathy Map ซะอีก เพราะการมองผู้ใช้ให้เป็นมนุษย์เหมือนเราจะช่วยเราคิดถึงผู้ใช้มากขึ้น ยิ่งถ้าเราสังเกตุว่าแต่ละคนพูดถึงผู้ใช้ไม่เหมือนกัน การลองมาช่วยกันทำ Persona จะทำให้เราได้สื่อสารกันเยอะเลย

การทำ Persona จะต่างจาก Market Target ตรงที่มันไม่ได้ครอบคลุมคนหลายคน แต่ระบุชัดเจนเป็นคน ๆ ไปเลย จะมีหลายคนก็ได้แต่ต้องเป็นคน ๆ ไป ไม่มีแบบเป็นช่วง เช่น อายุ 20–30 ปี หรือเงินเดือน 20,000–30,000 บาท เวลาที่เราพยายามลงให้ตรงนี่ละ เป็นช่วงที่กระตุ้นการถกเถียงได้ดี ยิ่งเราแบ่งกันสร้างผู้ใช้มาซัก 4–5 คนแล้วลองถามว่าใครที่จะรัก Product ของเรามากที่สุด ก็ช่วยให้เกิดการคุยกันมากที่เดียวครับ

ลองอ่านเรื่อง Persona เพิ่มเติมที่ UXMAG

3. User Journey

การทำ User Journey คือการชวนคนมาคุยเรื่องราวของผู้ใช้ของเรา หรือเรื่องราวของผู้ใช้กับ Product ของเรา หลายครั้งเราคิดว่าเพื่อน ๆ ก็น่าจะคิดเรื่องราวต่าง ๆ เหมือนกับเรา แต่เอาเข้าจริงหลายครั้งกว่าจะเรียงกับออกมาลงตัวต้องใช้เวลาเป็นชั่วโมง แต่นั่นเป็นเวลาสนทนาที่มีคุณค่ามาก เพราะทำให้ทีมของเราเห็นเรื่องราวของผู้ใช้ได้ชัดเจนมากขึ้น

ผมตั้งหัวข้อว่า User Journey แต่จริง ๆ มันยังมีแบบย่อย ๆ อีก เช่น Experience Map, Service Blueprint หรือ Sprint Map เป็นต้น แต่ทุกแบบจะมีอย่างหนึ่งที่เหมือนกันคือมีแกน X เป็นเวลา ส่วนแกน Y จะเป็นช่อง ๆ แล้วแต่ว่าเราสนใจอะไร ส่วนมากก็จะเป็น User Action (ผู้ใช้ทำอะไร) Touch point (ผู้ใช้ทำที่ไหน) Emotion (ผู้ใช้รูปสึกอย่างไร) หรือบางที่ก็เพิ่ม Interface, Front Stage, Back Stage, Suport หรือ Action ของแต่ละ Persona ลงไปด้วย

สุดท้ายสิ่งที่ได้คือความเข้าใจที่เริ่มตรงกันว่าผู้ใช้จะมีชีวิตอยู่กับ Product ของเราอย่างไร

อ่านเรื่อง User Journey เพิ่มเติมได้ที่ Techsauce

4. Story Board

อันนี้เป็นเหมือนอาวุธลับเลยครับ ผมเห็นบทความที่สอนเรื่องนี้หลายครั้งมาก แต่ไม่ค่อยเห็นคนเอามาใช้ ทั้ง ๆ ที่มันทรงพลังมาก ๆ การบอกเล่าเรื่องราวของ Product ของเราออกมาเป็นเรื่อง ทำให้เห็นภาพรวมทั้งบริบทเรื่องเวลา ปัญหา ความรู้สึก จังหวะการแก้ปัญหา และอีกหลาย ๆ อย่างด้วยกระดาษแผ่นเดียว ยิ่งถ้าเราให้แต่ละคนวาด story board ขึ้นมา แล้วเอามาเล่า มันจะกลายเป็นเรื่องให้คุยกันได้อีกเยอะเลย

การทำ Storyboard ของ Product ก็เป็นแบบเดียวกับ Storyboard ของหนังครับ เรียงกันเป็นช่อง ๆ เหมือนกัน มีจุดที่เป็นปัญหา การแก้ปัญหา และผลลัพธ์ ถ้าเราดูภาพทางขวา จะเห็นว่ากระบวนการออกแบบเริ่มที่ Storyboard ก่อน แล้วค่อยวาด Wireframe จากนั้นจึงค่อยออกแบบภาพเหมือนจริงออกมา

ถ้าเราสรุปเรื่องราวของโปรแกรมของเราให้ชัดเจนในใจของทีมงาน การที่แต่ละคนจะลงรายละเอียดในส่วนของตัวเองให้เหนือกว่าที่เราวางแผนไว้ก็เป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น

อ่านเรื่องการทำ Storyboard ต่อได้ที่ Johnnyholland

5. Assumption mapping

จะช่วงเวลาไหน ๆ ของการพัฒนา Product เราก็จะพบว่าพวกเรามีสิ่งที่อยากทำมากกว่าเวลาที่เรามีเสมอ การย้อนกลับมาคุยกันว่าเรามีข้อสันนิษฐานอย่างไร จึงอยากทำสิ่งนั้น ๆ ก็ช่วยให้เราเขาใจตัวเราและทีมงานมากขึ้น

ยิ่งถ้าเราลองเอาข้อสันนิษฐานนั้น ๆ มาวางในกราฟ Assumption Mapping ก็ยิ่งทำให้เราเห็นชัดเจนว่าอะไรที่เรามันใจแล้วสามารถเอาไปทำได้เลย หรืออะไรที่เรายังไม่มั่นใจควรเอาไปทดสอบเพิ่มเติม เราจะเริ่มเห็นว่าคนในทีมแต่ละคนมีความมั่นใจในข้อสันนิษฐานของตัวเองไม่เท่ากัน การได้คุยกันว่าจริง ๆ เราควรมั่นใจแค่ไหน ก็เป็นเรื่องทีดีมาก ๆ

อ่านวิธีการทำ Assumption Mapping ได้ที่ UX Academy

ยังมีเครื่องมืออีกหลายตัวมาก ๆ เช่น Lean Value Tree, Story Mapping, Product Market Fit เป็นต้น คนที่ทำงานด้าน UX ควรมีเครื่องมือเหล่านี้ติดตัวเอาไว้ เมื่อไหรที่เริ่มเห็นความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน หรือต้องการเปิดตัวเลือกให้มากขึ้น จะได้หยิบเอามาใช้หลอกล่อให้ทีมได้คุยกัน

ถ้าลองสังเกตุดี ๆ กระบวนการหลอกส่วนใหญ่จะมีสองส่วน คือ ส่วนขยาย และส่วนสรุป ส่วนขยายคือส่วนที่เราพยายามดึงเอาความเข้าใจหรือ idea ของทีมงานแต่ละคนออกมาให้ได้มากที่สุด ตรงจุดนี้ถ้าคนนำเก่ง ๆ จะช่วยได้มาก (Facilitator) อีกส่วนคือส่วนสรุป จะเป็นการจัดกลุ่มเพื่อให้เห็นแนวโน้ม การทดสอบเพื่อดูว่าแนวทางไหนได้ผล หรือใช้เหตุผลเพื่อหาข้อสรุป ซึ่งเครื่องมือส่วนมากจะแสดงบทสรุปออกมาในภาพสุดท้ายอยู่แล้ว

Note: ถึงภาพสุดท้ายจะเป็นข้อสรุปของการประชุม แต่ก็ไม่ต้องยึดถือว่ามันจะไม่เปลี่ยนแปลง เมื่อไหรที่เรารู้สึกว่ามันไม่ถูกต้องแล้วก็มาเปลี่ยนได้ตลอด สิ่งที่มีค่ากว่าข้อสรุปคือความเข้าใจของทีมที่สร้างภาพสุดท้ายมาด้วยกัน

ถ้าทุกการประชุมเราไม่คุยกันในอากาศ แต่หาทางเขียนข้อสรุปของเราออกมาอย่างในตัวอย่างทั้ง 5 แบบ สุดท้ายเราก็ไม่ต้องเขียน e-mail สรุปขึ้นมาให้เป็นภาระที่ทุกคนต้องมาทำความเข้าใจใหม่ แค่ให้ทุกคนถ่ายภาพบอร์ดที่สร้างขึ้นมาด้วยกันก็พอ ถึงจะอ่านยากหน่อยแต่ของที่สร้างมากับมือมันก็น่าจะเข้าใจมากกว่าครับ

5 ตัวอย่างนี้เป็นเครื่องมือหลอกให้คนคุยกันของ UX ถ้าสนใจว่าทีม Scrum เค้ามีเครื่องมืออะไรบ้าง ลองเข้าไปอ่าน blog ของพี่โอ ได้นะครับ

หรือถ้าสนใจเรื่อง UX อื่น ๆ สามารถดูได้ที่ blog.uxacademy.in.th มีบทความที่น่าสนใจหลายเรื่อง เช่น

ส่วนบริษัทไหนต้องการหาทีมงาน UX มืออาชีพมาช่วยงาน ลองติดต่อ Ahancer ดูนะครับ

--

--

I am a big believer that great UX comes from all team members, not one. #UX Evangelist at ODDS #Co-founder of UX Academy #Certified Sprint Master.