Assumption Mapping จาก Workshop ของ Jonny Schneider

Apirak
UX ACADEMY TH
Published in
3 min readMar 6, 2019

--

งานจบความรู้ยังไม่จบ Workshop ในงาน UX Thailand Conference 2019 แยกเป็น 4 ห้อง โดยห้องที่ผมเข้าเป็นห้องของ Jonny Schneider ครับ ที่เข้าห้องนี้เพราะเคยอ่านหนังสือของเค้ามาก่อน ชื่อ Understanding Design Thinking, Lean and Agile เค้าเปิดให้อ่านฟรีด้วยครับ

พออ่านแล้วติดใจเลยอยากมาฟังตัวเป็น ๆ แล้วก็ไม่ผิดหวังเลยครับ ในวันนี้เค้าพูดถึง Customer Learning Experiments for Product Managers แต่ใน workshop ไปได้ไม่เร็วมากนักทำให้น้ำหนักไปลงที่เรื่อง Assumption mapping ซะเยอะ แต่ก็มีประโยชน์มาก ๆ ผมทดลองเอาไปใช้กับลูกค้า และกับทีมงานแล้ว ช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นมาก ๆ เลยอยากเอามาเล่าให้ฟังกันครับ

ในวันนั้นพอเริ่มช่วงบ่าย เค้าก็ให้เราเริ่มจากการอ่าน case study ของบริษัททำโปรแกรมแห่งหนึ่ง ที่มีเป้าหมายจะช่วยคนปั่นจักรยานให้สามารถปั่นได้ไกลขึ้น นานขึ้น โดยเชื่อว่าการปั่นเป็นทีมจะสามารถช่วยได้ คนสร้างโปรแกรมได้แนวคิดนี้มาจากตอนที่ตัวเองปั่นจักรยานสมัยมหาวิทยาลัย ว่าสามารถปั่นได้ดีขึ้นเมื่อมีเพื่อนร่วมทีมมาปั่นด้วยกัน

หลังจากที่เราอ่านทั้งสองหน้าจบ ทีมเราก็มาสรุปกันว่า บริษัทที่สร้างโปรแกรมนี้มีความเชื่ออะไรบ้าง เค้าพัฒนาโดยมีความมั่นใจอะไร มั่นใจแค่ไหนในแต่ละเรื่อง ในตอนนั้น Jonny ให้เราแยก Post-it เป็นสองสีโดยสีเหลืองเป็นตัวแทนของความเชื่อ เพื่อยืนยันว่า ผู้ใช้อยากได้โปรแกรมของเรา เช่น ใครเป็นกลุ่มเป้าหมายของโปรแกรม อะไรเป็นปัญหาที่ผู้ใช้ต้องการแก้ ปัจจุบันผู้ใช้พยายามแก้ปัญหานี้อย่างไร อะไรเป็นผลลัพธ์ที่ผู้ใช้อยากได้ อีกสีคือสีเขียวเป็นความเชื่อ ที่มายืนยันว่า เราควรทำโปรแกรมนี้ขึ้นมา เช่น ทำไมผู้ใช้ถึงอยากจะแนะนำโปรแกรมเราให้เพื่อน ทำไมผู้ใช้ถึงอยากกลับมาใช้โปรแกรมของเราอีก แนวทางการแก้ปัญหาของเราสามารถทำกำไรได้อย่างไร หรือมีคู่แข่งเป็นใคร

[Note 📝 ] ต้นฉบับเรื่อง Assumtion Mapping ของ Precoil CEO David Bland แบ่งสมติฐานออกเป็นสามกลุ่มคือ Desirable (ผู้ใช้อยากได้หรือเปล่า), Feasible (ทำได้จริงหรือเปล่า), Viable (ทำแล้วอยู่ได้หรือเปล่า) ผมมองว่าเค้าแบ่งสมติฐานออกไปสามกลุ่มตามหมวกของคนทำงาน

พอแบ่งไปตามหมวกที่สวม ก็ทำให้จำง่ายขึ้นมาหน่อย

  • Viability: Business assumtion ก็จะมองว่าสิ่งนี้จะอยู่รอดได้ด้วยวิธีใด สามารถสร้างกำไรได้อย่างไรบ้าง สามารถขยายผลต่อเนื่องได้หรือไม่ เรื่องนี้คนสวมหมวกฝ่ายธุรกิจจะช่วยเราได้ พอมากลุ่ม
  • Desirable: Design assumtion ก็จะเดาว่าปัญหาของผู้ใช้อยู่ที่ไหน สิ่งที่เราพอจะแก้ให้ผู้ใช้ ทำได้อย่างไรบ้าง ส่วนนี้คนที่สวมหมวกด้านออกแบบ หรือ User Research จะคิดได้เยอะเลย กลุ่มสุดท้ายคือ
  • Feasible: Developer assumtion จะสร้างสมติฐานว่าทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้นได้จริง มีงานออกแบบมากมายที่สุดท้ายแล้วทำไม่ได้ หรือไม่สามารถผลิตออกมามาก ๆ ได้ นี่ก็เป็นสิ่งที่ต้องเอามาทดสอบให้มั่นใจก่อน

ถึงแม้เราจะทำ workshop นี้คนเดียว ก็สามารถทดลองสวมหมวกเป็นตำแหน่งต่าง ๆ ได้ครับ เวลาคิดสมติฐานออกมาจากทีละหมวกจะทำให้สร้างสมติฐานได้เร็วกว่า ไม่งั้นความคิดจะตีกันสุดท้ายทุกอย่างอาจจะดูเป็นไปไม่ได้ไปซะหมด กลายเป็นไม่มีสมติฐานออกมาเลย

หลังจากพอรู้หลักการคร่าว ๆ คนในทีมก็ช่วยกันวิเคราะห์บทความว่ามีความเชื่ออะไรบ้าง นำมาเขียนลงบน Post-it แล้วติดไว้บน Graph ด้านล้างนี้ (ในวัน workshop เราลืมแบ่งสี 😝 แต่ถ้าได้แบ่งก็จะช่วยให้เห็นภาพชัดขึ้นมาก ว่าความเชื่อของเราเบนไปทางไหนเยอะ )

เราแบ่งความเชื่อออกมาสองแกน อันแรกเป็นแกนความสำคัญ ว่าสมติฐานนี้สำคัญต่อโปรแกรมของเราหรือไม่ สำคัญต่อการตัดสินใจในอนาคตของเราหรือเปล่า มีคุณค่าทางธุรกิจแค่ไหน แกนที่สองคือแกนความมั่นใจ หรือมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นแค่ไหน เอาไปทำได้เลยหรือเปล่า มีอะไรคาใจมั๊ย

หลังจากวางลงไปแล้ว เราก็จะเห็นข้อสมติฐานของเราแบงออกได้ 4 กลุ่ม

  1. Know & Important กลุ่มนี้คือข้อที่สำคัญ แถมเรายังมั่นใจกับมันมากแล้วด้วย เราอาจจะเคยทดสอบมาแล้ว เห็นมันเห็นกันชัด ๆ เราคงไม่ต้องลงไปศึกษามันอีก สามารถนำมาวางแผนการทำงานได้เลย
  2. Unknow & Important กลุ่มนี้เรารู้สึกว่ามันสำคัญ แต่อาจจะไม่เคยทดสอบ หรือไม่ก็ยังเห็นไม่ชัด แค่มีคนเล่าต่อ ๆ กันมา ดังนั้นจึงเป็นกลุ่มที่เราควรรีบนำมาทดสอบก่อนเลย ต่างจากกลุ่มที่ 3
  3. Unknow & Unimportant กลุ่มนี้นอกจากจะไม่รู้แล้ว เรายังคิดว่ามันไม่สำคัญด้วย ดังนั้นถ้าจะเลือกนำมาทดสอบ ก็น่าจะเป็นกลุ่มท้าย ๆ แต่ก็ไม่แน่นะครับ พอรู้จักมันมากขึ้น มันอาจจะสำคัญขึ้นมาก็ได้
  4. Know & Unimportant กลุ่มนี้คงไม่ต้องทำอะไรมาก เพราะเราเห็นมันชัดแล้วว่าไม่สำคัญ กลุ่มนี้จะเป็นที่รวมของสิ่งที่เราเคยสนใจจำนวนมาก (ผมมองว่ายิ่งเรามีกลุ่มนี้เยอะ แสดงว่าเรารู้จักโปรแกรมของเราดีแล้ว) เพราะเรารู้แล้วว่าอะไรที่มันสำคัญจริง ๆ

เมื่อวางได้แล้ว เราจะเริ่มเห็นแล้วว่างานถัดไปที่ควรทำคืออะไร สิ่งไหนที่เราควรนำมาลงรายละเอียดต่อ หรือสิ่งไหนที่เราควรนำไปทดสอบ เพื่อให้เข้าใจมันมากขึ้น

มาถึงจุดนี้ทีมเราได้ลองถาม Jonny ว่าถ้าสมติฐานที่สำคัญที่สุดมันทดสอบได้ยาก เช่น ในบทความบอกว่า “พวกเราเชื่อว่าการทำโปรแกรมด้านการปั่นจักรยานคือแนวทางที่จะทำให้เราเติบโตต่อไป” ซึ่งเป็นความเชื่อในเชิงวิสัยทัศน์ จะเอามาทดสอบก็คงไม่ง่ายเลย แล้วเราจะทำอย่างไรดี

สมติว่า สมติฐาน A ในรูปข้างบนเป็นสิ่งที่สำคัญมาก แต่เราไม่ค่อยมั่นใจ และไม่รู้ว่าจะทดสอบมันอย่างไรดี คุณ Jonny บอกว่าให้เราเอาอันรองลงมาไปทดสอบก่อนเลย บางทีการทดสอบสมติฐานอย่างหนึ่งจะทำให้เราเข้าใจสมติฐานอื่น ๆ มากขึ้นด้วย เช่นพอทดสอบ B แล้วทำให้เราเข้าใจ A และใบอื่น ๆ มากขึ้น บางทีอาจจะรู้ว่ามันไม่ได้สำคัญขนาดที่เราคิดไว้ตอนแรก หรือกลายเป็นว่ามันเป็นสิ่งสำคัญกว่าที่เราคิดไว้ซะอีก

หลายครั้งตัวเราเอง หรือลูกค้าของเรา มีความต้องการมากมาย เค้าอยากลองทำโน่น ลองทำนี่ หลาย ๆ อย่าง ถ้าเป็นไปได้อยากให้เราลองพาทำ Assumption Mapping ดูครับ มันจะช่วยทำให้เห็นภาพชัดขึ้นว่าในความต้องการที่มากมายนั้น เราควรเริ่มทำอะไรก่อน (เริ่มจากเอาช่อง Know & Important มาวางแผนก่อนเลย) และช่วยให้เรายั้งชั่งใจไว้ได้ด้วย ว่าของบางอย่างก็สามารถรอได้ เราไม่ควรรีบเอาไปทำ เราควรเอามันไปทดสอบให้ชัดก่อน (ช่อง Unknow & Important) ระหว่างที่กำลังทดสอบก็เอาช่องแรกไปวางแผนพัฒนาก่อน

แต่ละโครงการ แต่ละช่วงเวลาจะมีสิ่งที่เราต้องเข้าใจไม่เหมือนกัน การทำ Assumption Mapping เป็นแค่หนทางหนึ่งในการมองปัญหาที่เราเจออยู่ ยังมีเครื่องมืออีกหลายตัวสำหรับคนที่ที่ช่วยให้เราเข้าใจสถานการณ์ได้ดีมากขึ้น ใครศึกษาเครื่องมือตัวไหนอยู่ฝากเอามาแลกเปลี่ยนกันนะครับ

สำหรับใครที่สนใจด้าน UX ผมแนะนำให้ลองดูบทความอื่น ๆ ของ uxacademy ดูครับ เช่น

ถ้าใครสนใจอบรมด้าน UX และ UI สามารถติดต่อ UX Academy ได้นะครับ หรือถ้าต้องการหา Partner มาช่วยออกแบบ สามารถติดต่อ Ahancer ได้เลยครับ

--

--

I am a big believer that great UX comes from all team members, not one. #UX Evangelist at ODDS #Co-founder of UX Academy #Certified Sprint Master.